วันนี้คุณเตรียม "พินัยกรรมชีวิต" ไว้หรือยัง ?

************************

เมื่อสองวันก่อน แหม่มโทรมาชวนสนทนาธรรม คุยไปคุยมา คุยไปถึงเรื่องความตาย เราถามแหม่มว่า ถ้าเกิดเธอต้องจากโลกนี้ไปอย่างกระทันหัน (ไม่ได้แช่ง) เธอยังจะมีห่วงอะไรไหม ? ยิงคำถามนี้เสร็จ พาลให้นึกถึงส่วนหนึ่งในบทความ ที่มาจาก เอกสารประกอบการอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘เผชิญความตายอย่างสงบ’ และ ‘ประตูสู่สภาวะใหม่’ ซึ่งจัดโดย เสมสิกขาลัย  เมื่อปีที่แล้ว กล่าวถึงสิ่งที่ควรสะสางไว้ก่อนสิ้นลม ไว้ว่า…

 

พินัยกรรมชีวิต

ทุกวันหลังเลิกงาน เรามักทำบันทึกช่วยจำว่าพรุ่งนี้มีอะไรที่เราต้องสะสางต่อไป แต่ทำไม – กับชีวิตที่ไม่แน่นอน น้อยคนนักที่คิดทำบันทึกช่วยจำหรือพินัยกรรมชีวิต ลองคิดดูว่าหากคุณต้องจากไปโดยมิได้สะสางสิ่งที่คั่งค้าง ทั้งเรื่องที่คับข้องใจและงานการในหน้าที่ ในเวลาที่กำลังจะสิ้นลม จิตใจเราจะห่วงกังวล กระสับกระส่ายแค่ไหน แน่นอนว่า คนที่อยู่ข้างหลังย่อมช่วยเหลือสะสางเรื่องต่างๆ อย่างเต็มใจ เพราะอยากให้เราตายตาหลับ แต่ก็บ่อยครั้งมิใช่หรือ ที่เราได้รับรู้เรื่องราวความขัดแย้งนานาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความตาย ไม่ว่าการตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาล การจัดพิธีศพ หรือเรื่องทรัพย์สินกองมรดก

 

 

ในค่ำคืนแรกของการอบรม วิทยากรชักชวนผู้เข้าอบรมให้ตั้งสติทบทวนชีวิต และจรดปากกาลงบนหน้ากระดาษ นี่เป็นเพียงแบบฝึกหัดแรกของการเตรียมเผชิญกับความตาย หากนาทีนั้นมาถึง เราประสงค์ให้มีการจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร

 

  • การจัดการกับร่างกายของเรา
  • การจัดการทรัพย์สินของเรา
  • คำสั่งเสียและล่ำลาต่อคนรัก คนใกล้ชิด เพื่อน หรือคำขออโหสิกรรมต่อผู้อื่นที่เคยมีเรื่องบาดหมางคับข้องใจ หรือได้กระทำผิดพลาดต่อกันในอดีต
  • ประโยชน์แก่สังคมที่อยากให้คนทำแทนเรา
  • งานที่คั่งค้างไว้
  • งานศพ

 

อาจมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่คุณอยากบันทึกไว้ เขียนทุกสิ่งทุกข้อให้ชัด ทั้งที่จะเป็นประโยชน์แก่จิตใจตนเอง และคนที่อาจอยู่ข้างหลัง

 

ฟังคำถามจบ แหม่มเงียบไปครู่นึง เหมือนกำลังใช้ความคิด แล้วตอบว่า "ก็ยังมีห่วงอีกเยอะ"
เอาเถอะ แหม่ม ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ คลาย สุดท้าย เราก็จะสามารถปล่อยวางได้อย่างไม่มีห่วง
ตอนนี้ เรารู้แล้วล่ะว่า ควรจะต้องเตรียมอะไรไว้ก่อนจากโลกนี้ไป

กันยา ณ เดือนเก้า
27/10/05